- รายละเอียด
- หมวด: ข้อมูลจังหวัด

สถานบริการสาธารณสุข
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีโรงพยาบาล 7 แห่ง จำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 420 เตียง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล 72 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 63 แห่ง หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง 10 แห่ง มาลาเรียคลินิก 15 แห่ง ศูนย์มาลาเรียชุมชน 21 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกรมการแพทย์ 1 แห่ง
สถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสถานบริการในระดับ PRIMARY CARE และ SECONDARY CARE จำแนกออกเป็น ดังนี้
- โรงพยาบาล มีโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 150 เตียง (ระดับ S) จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง (ระดับ M2) จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สะเรียง โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง (ระดับ F1) จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลปาย โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง (ระดับ F2) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลขุนยวม โรงพยาบาลแม่ลาน้อย โรงพยาบาลปางมะผ้า และโรงพยาบาลสบเมย
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล 72 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอ
- สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) มีสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) เปิดบริการทั้งหมด 63 แห่ง โดยมีข้าราชการ / ลูกจ้างประจำ (พสช.) ปฏิบัติงานประจำ มีพนักงานสุขภาพชุมชน ( พสช.) ที่ผ่านการอบรม อสม.ที่ผ่านการอบรมความรู้มาปฏิบัติงาน เพื่อให้การจัดบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร เกิดความต่อเนื่องและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ
- สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดของกรมควบคุมโรค ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (ศตม.ที่ 1 แม่ฮ่องสอน) เป็นหน่วยงานระดับจังหวัดและมีหน่วยงาน ระดับอำเภอ คือ หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (นคม.) จำนวน 10 แห่ง และมาลาเรียคลินิก จำนวน 15 แห่ง
- ศูนย์มาลาเรียชุมชน เป็นหน่วยบริการระดับชุมชนที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับสหภาพพม่า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกองทุนโลก (GLOBAL FUND) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่มีการแพร่เชื้อสูง มีการคมนาคมที่ยากลำบากและไม่มีสถานที่ตรวจรักษามาลาเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย รวมจำนวน 21 แห่ง
- สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลธัญญารักษ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 แห่ง ขนาด 75 เตียง เปิดให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดทั้งในลักษณะการบำบัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในและบำบัดในชุมชน
อำเภอ | โรงพยาบาล | รพ.สต. (แห่ง) | สสช. (แห่ง) | นคม. (แห่ง) | มาลาเรียคลินิก (แห่ง) | ศูนย์มาลาเรียชุมชน (แห่ง) | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จำนวน (แห่ง) | จำนวน (เตียง) | ระดับตาม Service Plan | ||||||
เมืองแม่ฮ่องสอน | 1 | 150 | S | 16 | 9 | 2 | 4 | 3 |
แม่สะเรียง | 1 | 90 | M2 | 11 | 13 | 2 | 2 | 10 |
ปาย | 1 | 60 | F1 | 11 | 8 | 1 | 1 | - |
ขุนยวม | 1 | 30 | F2 | 10 | 6 | 1 | 2 | - |
แม่ลาน้อย | 1 | 30 | F2 | 11 | 11 | 1 | 2 | - |
สบเมย | 1 | 30 | F2 | 8 | 11 | 2 | 3 | 8 |
ปางมะผ้า | 1 | 30 | F2 | 5 | 5 | 1 | 1 | - |
รวม | 7 | 420 | - | 72 | 63 | 10 | 15 | 21 |
บุคลากรสายวิชาชีพ
ในปี พ.ศ. 2559 มีบุคลากรสายวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวนแพทย์ จำนวน 64 คน ทันตแพทย์ จำนวน 24 คน เภสัชกร จำนวน 32 คน พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 498 คน ทั้งนี้ ภาพรวมสัดส่วนบุคลากรสายวิชาชีพต่อประชากรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องรับผิดชอบประชากรในสัดส่วนที่สูงกว่าสัดส่วนต่อประชากรระดับประเทศที่กำหนด
สาขาวิชาชีพ | จำนวนผู้ปฏิบัติงานจริง (คน) | สัดส่วนต่อประชากรระดับจังหวัด | สัดส่วนต่อประชากรระดับประเทศ |
---|---|---|---|
แพทย์ | 64 | 1 : 4,284 | 1 : 2,533 |
ทันตแพทย์ | 24 | 1 : 11,425 | 1 : 10,676 |
เภสัชกร | 32 | 1 : 8,568 | 1 : 6,388 |
พยาบาลวิชาชีพ | 498 | 1 : 551 | 1 : 506 |
สถิติการเจ็บป่วยของประชากร ในปี พ.ศ. 2558
- อัตราเกิดมีชีพต่อประชากรพันคน เท่ากับ 10.74 อัตราตายต่อประชากรพันคน เท่ากับ 4.51 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน อัตราเพิ่มตามธรรมชาติต่อประชากรร้อยคน เท่ากับ 0.62 อัตราทารกตายต่อการเกิดมีชีพพันคน เท่ากับ 9.04 และอัตรามารดาตายต่อการเกิดมีชีพแสนคน เท่ากับ 0
- สาเหตุการป่วยของผู้ป่วยนอกเรียงจากมากไปน้อย 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคระบบหายใจ, อาการอาการแสดงและสิ่งผิดปกติที่พบได้จากการตรวจทางคลินิกฯ, โรคระบบย่อยอาหารรวมโรคในช่องปาก, โรคระบบกล้ามเนื้อรวมโครงร่างและเนื้อยึดเสริม, และโรคระบบไหลเวียนเลือด ตามลำดับ
- สาเหตุป่วยด้วยโรค 5 อันดับแรกของผู้ป่วยในเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ Hypertensive diseases รองลงมาคือ โรค Hypertensive diseases , Other endocrine,nutritional and metabolic disorders , Symptoms,signs and abnormal clinical and laboratory findings, not elsewhere classified และ Other disorders of the genitourinary system ตามลำดับ
- สาเหตุการตายเรียงจากมากไปน้อย 5 อันดับสาเหตุแรก ได้แก่ ปอดบวมไม่ระบุรายละเอียด, เนื้องอกร้ายของหลอดลมหรือปอดไม่ระบุตำแหน่ง, ความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ(ปฐมภูมิ), การติดเชื้อในกระแสเลือดไม่ระบุชนิด และเลือดออกในสมองไม่ระบุรายละเอียด
- สาเหตุการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่สำคัญเรียงจากมากไปน้อย 5 อันดับโรคแรก ได้แก่ อุจจาระร่วง, ไข้ไม่ทราบสาเหตุ, ปอดบวม, ตาแดง และ อาหารเป็นพิษ ซึ่งทั้ง 5 โรคดังกล่าวเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของประชากรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมาโดยตลอด
หมายเหตุ ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2560